Print

การพัฒนาแบบประเมินและติดตามการหายของแผลเรื้อรัง กลุ่มงานศัลยกรรม โรงพยาบาลลำพูน

ศศิธร พิชัยพงศ์ พย.มหน่วยงาน ศูนย์การดูแลแผลงานการพยาบาลผู้ป่วยนอก รพ.ลำพูน

ความเป็นมา:การพยาบาลผู้ป่วยบาดแผลมีการพัฒนากันอย่างแพร่หลาย โดยสิ่งแรกที่ต้องมีการพัฒนาได้แก่การประเมินแผลเนื่องจากเป็นขั้นตอนแรกของกระบวนการพัฒนาการพยาบาล การประเมินแผลอย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุม จะต้องประกอบไปด้วยความรู้ความชำนาญของผู้ประเมินและแบบประเมินที่มีความเหมาะสมในบริบทการทำงาน ครอบคลุมเนื้อหาที่จะนำมาวางแผนการดูแลเช่น BWAT (Bates-Jensen, 2001) ประกอบด้วยการประเมินแผล 13 หัวข้อ ผู้ประเมินต้องมีความรู้ ความเข้าใจในรายละเอียดของแต่ละหัวข้อ จึงจะสามารถประเมินได้ PUSH tool (NPUAP,2015) เป็นแบบประเมินแผลที่ใช้ในแผลกดทับ ประกอบด้วย 3 หัวข้อหลักใช้ง่าย เหมาะสำหรับพยาบาลวิชาชีพและทีมสุขภาพทั่วไปเป็นต้น ผู้วิจัยและทีมพัฒนาระบบการดูแลแผลเรื้อรังจึงมีความสนใจพัฒนาแบบประเมินและติดตามการหายของแผลเรื้อรัง ที่มีความเหมาะสมในบริบทของการใช้งานโดยผู้ใช้สามารถใช้ได้อย่างเหมาะสมตรงตามวัตถุประสงค์ โดยใช้กรอบแนวคิดการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมโดยใช้วิธีPDCA

วัตถุประสงค์ของการวิจัย:เพื่อพัฒนาแบบประเมินและติดตามการหายของแผลเรื้อรัง ที่มีความเหมาะสมในบริบทของการใช้งาน

วิธีการศึกษา:ศึกษากลุ่มประชากร 2 กลุ่ม ได้แก่ 1.แพทย์ พยาบาล ผู้ให้การดูแลแผลเรื้อรัง รวมทั้งสิ้น 38 คน 2.ผู้ป่วยแผลเรื้อรังที่เข้ารับการรักษาในศูนย์การดูแลแผล, หอผู้ป่วยศัลยกรรมชาย, หอผู้ป่วยศัลยกรรมหญิง, ตึกพิเศษร่มเย็น 4, ตึกพิเศษสงฆ์ 2 ขนาดประชากรใช้ตารางสำเร็จรูปของเครจซี่และมอร์แกนได้ขนาดตัวอย่างคือ 10 คน รูปแบบการวิจัยเป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้วิธี PDCAคือระยะที่ 1.ระยะเตรียมการ (Plan)ระยะที่ 2.ระยะดำเนินการ (DO)ระยะที่ 3.ระยะตรวจสอบ (Check)ระยะที่ 4 ระยะปรับปรุงแก้ไขงานให้ดีขึ้น (Act)ระยะที่ 5 ระยะสะท้อนกลับระยะที่ 6 ทดสอบประสิทธิผลของแบบประเมิน วิเคราะห์ข้อมูลโดยส่วนที่ 1 ข้อมูลส่วนบุคคลของกลุ่มตัวอย่างใช้สถิติเชิงพรรณนา คือ แจกแจงความถี่และ หาค่าร้อยละของข้อมูลส่วนที่ 2 ข้อมูลจากการตอบแบบประเมิน นำข้อมูลมาวิเคราะห์เชิงเนื้อหา เปรียบเทียบค่าเฉลี่ยความพึงพอใจต่อการใช้ทั้ง 2 รอบสอบถามในประเด็นรูปแบบของการบันทึก เนื้อหา ความชัดเจนของคำจำกัดความ ความง่ายของการบันทึก ความรวดเร็วของการบันทึก ภาพรวมของการบันทึก ทดสอบโดยใช้สถิติ Paired Sample T-test

ผลการศึกษา:พบว่าแบบบันทึกรอบแรกใช้ง่ายแต่หัวข้อยังไม่ครอบคลุมควรมีลักษณะแผลที่สื่อให้มีการจัดการปัญหาและมีความลึกของแผล แบบประเมินสื่อไม่ชัดเจนไม่มีภาพแผลจริงบนแบบประเมิน เชิงปริมาณพบว่า คะแนนความพึงพอใจในภาพรวมเฉลี่ยจากการปฏิบัติการรอบที่ 1และรอบที่ 2 เท่ากับ 4.29(ร้อยละ61.35) และ4.84(ร้อยละ86.96)ตามลำดับ เมื่อพิจารณารายประเด็นพบว่าคะแนนความพึงพอใจจากการปฏิบัติการรอบที่ 2 สูงกว่ารอบที่ 1 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ผลการใช้แบบประเมินพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุระหว่าง 61-70 ปี(ร้อยละ62)เพศชายร้อยละ78 การวินิจฉัยคือ DM Ulcer ร้อยละ64 ส่วนใหญ่ คะแนนรวมแรกรับ 17 คะแนน คะแนนรวมก่อนกลับบ้านส่วนใหญ่ 13 คะแนน

สรุปและข้อเสนอแนะ:ควรมีการพัฒนานำผลการใช้แบบประเมินมาเป็นแนวทางในการดูแลแผลเรื้อรังต่อไป

คำสำคัญ:Wound assessment , แบบประเมินแผล , wound record , การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม