Print

สาเหตุที่ทำให้เกิดการเลื่อนหลุดของท่อหลอดลมในทารกแรกเกิดหอผู้ป่วยหนักทารกแรกเกิดและเด็ก โรงพยาบาลลำพูน

นางพัทธ์ธีรา พิลาแดง โรงพยาบาลลำพูน

การใส่ท่อหลอดลมคอของทารกแรกเกิด จะใช้ท่อช่วยหายใจชนิดไม่มี กระเปาะยาง (cuff) เนื่องจากโดยโครงสร้างทางเดินหายใจของทารก ส่วนที่แคบที่สุดคือระดับกระดูกอ่อนกล่องเสียง (Cricoid cartilage) จะทำหน้าที่เป็น cuff แทน ทำให้ท่อหลอดลมคอเลื่อนหลุดได้ง่าย ส่งผลให้มีอาการแย่ลง บางรายอาจเสียชีวิต หรืออาจมีความพิการทางสมอง การวิจัยเชิงพรรณนาในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดการเลื่อนหลุดของท่อหลอดลมในทารกแรกเกิด หอผู้ป่วยหนักทารกแรกเกิดและเด็ก โรงพยาบาลลำพูน เป็นระยะเวลา 4 เดือนระหว่างเดือนมกราคม ถึงเดือน เมษายน 2559 กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษา คือทารกแรกเกิดที่มารับการรักษาที่หอผู้ป่วยหนักทารกแรกเกิดและเด็ก และใส่ท่อช่วยหายใจ โรงพยาบาลลำพูน จำนวน 20 ราย หอผู้ป่วยหนักทารกแรกเกิดและเด็กโรงพยาบาลลำพูน มีผู้รับบริการในปี พ.ศ.2558 จำนวน 209 ราย พบอัตราการเลื่อนหลุดของท่อหลอดลมเท่ากับ 36.4 ต่อ 1000 วัน ของการใช้เครื่องช่วยหายใจ (สถิติหอผู้ป่วยหนักทารกแรกเกิดและเด็กโรงพยาบาลลำพูน,2558) ซึ่งส่งผลกระทบต่อทารกแรกเกิด

วัตถุประสงค์ของการวิจัย :เพื่อศึกษาถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดการเลื่อนหลุดของท่อหลอดลมในทารกแรกเกิด หอผู้ป่วยหนักทารกแรกเกิดและเด็ก โรงพยาบาลลำพูน

วิธีการศึกษา :การวิจัยครั้งนี้เป็นการการวิจัยเชิงพรรณนา (Descriptive research)เพื่อศึกษาถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดการเลื่อนหลุดของท่อหลอดลมในทารกแรกเกิด หอผู้ป่วยหนักทารกแรกเกิดและเด็ก โรงพยาบาลลำพูน เป็นระยะเวลา 4 เดือน ระหว่างเดือนมกราคม ถึงเดือน เมษายน 2559 กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษา คือ ทารกแรกเกิดที่มารับการรักษาที่หอผู้ป่วยหนักทารกแรกเกิดและเด็ก และใส่ท่อช่วยหายใจ โรงพยาบาลลำพูน จำนวน 20 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาเป็น แบบสังเกตสาเหตุที่ทำให้เกิดการเลื่อนหลุดของท่อหลอดลมในทารกแรกเกิด วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนาร้อยละ

ผลการวิจัย :ผลการวิจัยพบว่าจำนวนทารกแรกเกิดทั้งหมด 20 ราย มีจำนวนวันนอนรวม 373 วัน พบการเลื่อนหลุดของท่อหลอดลมในทารกแรกเกิด 49 ครั้ง คิดเป็น ร้อยละ 13.13 ซึ่งมีจำนวน 10 ราย คิดเป็นร้อยละ 50 ส่วนใหญ่พบมากในกลุ่มทารกน้ำหนัก 1,000 – 1,499 กรัม ร้อยละ 33.33 แยกตามสาเหตุที่ทำให้เกิดการเลื่อนหลุดของท่อหลอดลม ส่วนใหญ่เกิดจากการดิ้นของทารก ร้อยละ 44.90, ดังรายละเอียดตารางที่ 1 และตารางที่ 2

ข้อเสนอแนะ :

1. ควรขยายผลการทำวิจัยและพัฒนา ดำเนินการสร้างแนวปฏิบัติในการป้องกันการเลื่อนหลุดของท่อหลอดลมในทารกแรกเกิด ให้ครอบคลุมและดำเนินการอย่างต่อเนื่องโดยการสนับสนุนหลายปัจจัยร่วมกัน ได้แก่ การอบรมให้ความรู้ การให้ข้อมูล

2. สร้างนวัตกรรมการดูแลทารกเพื่อป้องกันการเลื่อนหลุดของท่อหลอดลมในทารกแรกเกิด โดยคำนึงถึงคุณภาพงานความพึงพอใจของผู้ที่เกี่ยวข้อง

3. ควรทำวิจัยเพื่อวิเคราะห์และสังเคราะห์ผลกระทบ ของการพัฒนางานในลักษณะนี้ มีผลต่อครอบครัว การดูแลด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ ต่อผู้ปฏิบัติงาน และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อหน่วยงาน และความพึงพอใจของผู้ใช้บริการต่อไป

คำสำคัญ : การเลื่อนหลุดของท่อหลอดลม , ทารกแรกเกิด