ผลของการเตรียมหญิงตั้งครรภ์ต่อความรู้ ทัศนคติการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือน
รุณราวรรณ์ แก้วบุญเรือง พย.ม. และคณะ
ห้องคลอด โรงพยาบาลลำพูน
บทคัดย่อ
ความสำคัญ :ความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องคือการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่มีประสิทธิภาพ โดยเริ่มตั้งแต่ระยะตั้งครรภ์ จนถึงระยะหลังคลอด
วัตถุประสงค์:เพื่อเปรียบเทียบความรู้ และทัศนคติการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ระหว่างก่อนและหลังเข้าร่วมโครงการเตรียมตัวเพื่อการคลอด และศึกษาอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือน
วิธีการศึกษา:เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง แบบกลุ่มเดียว วัดก่อนและหลังการทดลอง กลุ่มตัวอย่างเป็นสตรีที่มาฝากครรภ์ โรงพยาบาลลำพูน และเข้าร่วมโครงการเตรียมตัวเพื่อการคลอด ระหว่างเดือนธันวาคม พ.ศ. 2558 ถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2559 จำนวน 30 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แผนการสอนการเตรียมตัวเพื่อการคลอดตามคู่มือโรงเรียนพ่อแม่ กระทรวงสาธารณสุข เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล คือ แบบประเมินความรู้เกี่ยวกับการเตรียมตัวเพื่อการคลอด แบบประเมินทัศนคติและความเชื่อเกี่ยวกับนมแม่และนมผสม และติดตามอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา และสถิติทดสอบค่าทีชนิด 2 กลุ่มสัมพันธ์กัน
ผลการศึกษา:พบว่ากลุ่มตัวอย่างหลังเข้าร่วมโครงการเตรียมตัวเพื่อการคลอด มีคะแนนเฉลี่ยความรู้และทัศนคติ เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มากกว่าก่อนเข้าร่วมโครงการเตรียมตัวเพื่อการคลอด อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .001) และมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือน ร้อยละ 43.3
ข้อเสนอแนะ:มารดาส่วนใหญ่มีทัศนคติที่ดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การให้ความช่วยเหลือ และให้คำแนะนำอย่างต่อเนื่อง จะช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้สูงขึ้น
คำสำคัญ (Key words) :การเตรียมคลอด การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่