บทบาทและการมีส่วนร่วมของนักวิจัยด้านกิจกรรมทางกายทั่วโลก เพื่อร่วมกันวิจัยและพัฒนาแนวทางการปฏิบัติ
Written by adminการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยระลอกแรกเมื่อต้นปี 2563 ได้ส่งผลให้ระดับการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของคนไทยลดลงจากร้อยละ 74.6 เหลือเพียงร้อยละ 55.5 1 หรือลดลงร้อยละ 19.1 ซึ่งการลดลงของระดับกิจกรรมทางกายมีผลมาจากนโยบายการงดใช้พื้นที่ที่มีการชุมนุมแออัด เช่น สวนสาธารณะ สนามกีฬา สถานที่ออกกำลังกาย และขอความร่วมมือให้ประชาชนใช้ชีวิตอยู่ที่บ้าน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดและแพร่กระจายเชื้อ ซึ่งผลจากนโยบายและความร่วมมือของประชาชนส่งผลให้ประเทศไทยไม่พบการติดเชื้อในประเทศไทยอยู่ช่วงระยะหนึ่ง และคนไทยได้กลับมาใช้ชีวิตตามปรกติอีกครั้ง โดยการสำรวจข้อมูลช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม ปี 2563 พบว่า ระดับการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของคนไทยได้เพิ่มขึ้นมาเป็นร้อยละ 65.3 2 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ประเทศไทยเริ่มพบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในระลอกที่ 2 ส่งผลให้ประเทศไทยจำเป็นต้องกลับมาใช้นโยบายเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้ออีกครั้ง นั่นคือ การที่คนไทยส่วนใหญ่ต้องกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านมากขึ้นและใช้พื้นที่สาธารณะให้น้อยที่สุด จึงมีโอกาสทำให้ระดับการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของคนไทยที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นต้องลดลงไปอีกครั้ง และวงจรการแพร่ระบาดนี้จะยังคงมีอยู่ต่อไปเรื่อย ๆ หากประเทศไทยหรือทั่วโลกยังไม่สามารถหาวิธีหยุดยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไว้ได้
ทั้งนี้ มีบทความที่น่าสนใจเกี่ยวกับการวิจัยด้านกิจกรรมทางกายและการสาธารณสุข เพื่อการสื่อสารนโยบายและแนวทางการปฏิบัติในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 3 เนื่องจากมีหลักฐานมากมายที่แสดงให้เห็นว่าการส่งเสริมกิจกรรมทางกายนั้นมีความสำคัญในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 4,5 แต่ข้อมูลที่มีก็ยังไม่มีน้ำหนักหรือหลักฐานเชิงประสิทธิผล ดังนั้น ในการที่จะผลักดันการส่งเสริมกิจกรรมทางกายให้เป็นนโยบายสาธารณะเพื่อการส่งเสริมสุขภาพของประชาชน จำเป็นต้องส่งเสริมให้มีการศึกษาและวิจัยด้านกิจกรรมทางกายที่มีประสิทธิผลในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพื่อการกำหนดแนวทางปฏิบัติและการกำหนดนโยบายด้านกิจกรรมทางกายที่มีประสิทธิผลด้วยการวิจัยที่หลากหลาย ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ในห้องทดลอง การศึกษาทางคลินิกกับผู้ป่วย หรือการศึกษาด้านสาธารณสุขที่เน้นการป้องกันหรือการส่งเสริมสุขภาพ โดย 7 ข้อเสนอการวิจัยที่นำเสนอในบทความข้างต้นนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ทางทีมผู้เขียนบทความซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกิจกรรมทางกายที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติได้เสนอไว้เท่านั้น แต่เป็นส่วนสำคัญยิ่งที่นักวิจัยและนักวิชาการทั่วโลกต้องใช้ความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ที่มี สำหรับทำการศึกษาวิจัยเพื่อให้ได้ข้อมูลที่สำคัญเพิ่มเติม โดยแบ่งข้อเสนอออกเป็น 5 ระยะ (Phase) ตามกรอบพฤติกรรมระบาดวิทยา
ข้อเสนอการวิจัยที่ 1: ตรวจสอบศักยภาพของกิจกรรมทางกายเพื่อใช้เป็นกลยุทธ์ในการบรรเทาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19
ข้อเสนอการวิจัยที่ 2: การใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) เพื่อทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของกิจกรรมทางกายในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ข้อเสนอการวิจัยที่ 3: การเรียนรู้วิธีการลดความเหลื่อมล้ำเกี่ยวกับโอกาสในการมีกิจกรรมทางกายในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ข้อเสนอการวิจัยที่ 4: ปรับปรุงวิธีการดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ด้วยกิจกรรมทางกาย
ข้อเสนอการวิจัยที่ 5: ประเมินวิธีการจัดการการใช้พื้นที่กิจกรรมทางกายที่ปลอดภัย
ข้อเสนอการวิจัยที่ 6: ประเมินและทำแผนที่สถานที่ที่ปลอดภัยในท้องถิ่นที่สามารถใช้งานได้ในระหว่างการแพร่ระบาด
ข้อเสนอการวิจัยที่ 7: การปรับแต่งการส่งเสริมกิจกรรมทางกายให้สอดคล้องกับสถานการณ์และวิถีชีวิตในช่วงวิกฤต
ข้อเรียนรู้และบทสรุปที่ได้จากบทความ
การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่แพร่กระจายไปทั่วทุกมุมโลกจนกลายเป็นภาวะวิกฤตใหญ่ครั้งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ ทำให้เรามองเห็นส่วนขาดหรือช่องว่างของการศึกษา การวิจัย และการพัฒนางานที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางกาย เพื่อรองรับปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันและอาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งภายใต้วิกฤตเช่นนี้ จำเป็นเหลือเกินที่จะต้องอาศัยความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ของนักวิจัยจากหลากหลายสาขาวิชาจากทุกมุมโลกมาร่วมกันทำงานด้านวิชาการนี้ เพื่อแบ่งปันและประยุกต์ใช้ข้อมูลให้สอดรับกับสถานการณ์ ปัญหา บริบท และวิถีชีวิตของคนในประเทศหรือชุมชนของตนเองให้สอดคล้องและลงตัวมากที่สุด และมากไปกว่านั้นคือ องค์ความรู้ต่าง ๆ เหล่านี้จะทำให้โลกของเรามีแนวทางการปฏิบัติและนโยบายที่พร้อมรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อในอนาคต โดยกิจกรรมทางกายจะมีบทบาทและมีความสำคัญต่อการสร้างภูมิคุ้มกันและบรรเทาความเจ็บป่วยให้กับประชาชนได้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งหมายถึงการรับรู้ ยอมรับ และการปฏิบัติกิจกรรมทางกายจะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคตด้วยเช่นกัน
CR.นันทวัน ป้อมค่าย, อภิชาติ แสงสว่าง และปัญญา ชูเลิศ