Copyright 2025 - Custom text here

การมีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอจัดว่าเป็นหนึ่งปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการบ่มเพาะกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) หลายชนิด (1) กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (บางครั้งมักเขียนผิดเป็น “โรคติดต่อไม่เรื้อรัง” ซึ่งผิดทั้งชื่อและความหมายของกลุ่มโรค) หรือที่บางครั้งถูกเรียกสั้น ๆ ว่ากลุ่มโรค NCDs ซึ่งย่อมาจาก Non-Communicable Diseases คือกลุ่มโรคที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค ไม่สามารถติดต่อได้ผ่านการสัมผัส คลุกคลี หรือ ติดต่อผ่านตัวนำโรค (พาหะ) หรือสารคัดหลั่งต่าง ๆ หากแต่การเกิดโรคนั้นมาจากปัจจัยต่าง ๆ ภายในร่างกาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากรูปแบบและวิถีการดำเนินชีวิตจากพฤติกรรมเสี่ยงอย่าง เหล้า บุหรี่ ขาดการออกกำลังกาย อาหารหวาน มัน เค็มจัด และมีความเครียด เป็นเหตุให้อุบัติโรค

จากรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในปี พ.ศ. 2559 พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 71 หรือประมาณ 41 ล้านคนของการเสียชีวิตทั้งหมด 57 ล้านคน ที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยปัญหาดังกล่าวก่อให้เกิดความสูญเสียปีสุขภาวะและส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรง (2) จากการสำรวจการมีกิจกรรมทางกายในประเทศไทยระหว่างปี 2556-2563 (3) พบว่าประชากรไทยมีระดับการมีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่เคยต่ำกว่าร้อยละ 25 ตามเป้าประสงค์ของแผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในประเทศไทย ยิ่งไปกว่านั้นด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังส่งผลให้ร้อยละการมีกิจทางกายที่ไม่เพียงพอทะยานขึ้นถึงร้อยละ 44.5 ในปี 2563

บทบาทของเทคโนโลยีกับการมีกิจกรรมทางกาย

ปัจจุบันเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่มีบทบาทที่ซับซ้อนต่อพฤติกรรมของมนุษย์ที่เป็นเหมือนดาบสองคมที่สามารถสร้างคุณประโยชน์ให้กับมนุษย์ แต่อีกนัยกลับกันก็เป็นโทษแก่สุขภาพได้เช่นกัน จริงอยู่ที่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสมัยใหม่นั้นทำให้การดำเนินชีวิตของมนุษย์มีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น เช่น การเดินทางในอดีตที่ใช้การเดินหรือการปั่นจักรยานเป็นหลักที่ในแต่ละวัน กิจกรรมเหล่านั้นหนุนนำให้การดำเนินกิจวัตรของผู้คนมีกิจกรรมทางกายอยู่เป็นประจำ ซึ่งตรงกันข้ามกับทุกวันนี้ที่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์บันดาลให้การเดินทางนั้นสุดแสนจะง่ายและรวดเร็วผ่านการสันดาบของเครื่องยนต์หรือการขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นเหล่านั้นนับวันยิ่งมีบทบาทสำคัญต่อพฤติกรรมของมนุษย์ ซึ่งให้คุณในแง่การอำนวยความสะดวกที่ส่งผลโดยตรงต่อการขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวร่างกายที่น้อยลง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับการขับเคลื่อนเพื่อผลักดันให้วิถีชีวิตของผู้คนที่คุ้นชินกับสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีเพิ่มขึ้นอยู่ทุกคืนวันให้ดำเนินชีวิตโดยมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอในแต่ละวัน

ด้วยข้อท้าทายนี้จึงมีการสรรสร้างและคิดค้นนวัตกรรมเพื่อกระตุ้นและสร้างความตระหนักให้แก่ผู้คนได้อย่างทั่วถึงในการมีกิจกรรมทางกายที่เพิ่มมากยิ่งขึ้นในชีวิตประจำวัน ซึ่งนวัตกรรมต่าง ๆ ถูกออกแบบและผลิตออกมาในรูปแบบ Application บน Smart Phone อุปกรณ์สวมใส่เพื่อสุขภาพในรูปแบบนาฬิกาหรืออุปกรณ์เพื่อการกีฬา หรือแม้กระทั่งระบบการจำลองการออกกำลังกาย (Virtual Exercise) ที่ได้ถูกนำมาใช้เพื่อส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายในสถานที่จำกัด

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้พยายามส่งเสริมสุขภาพ (Health Promotion) ในประชากรกลุ่มเสี่ยงที่มีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ (Physical Inactivity) ด้วยการออกแบบมาตรการเพื่อการช่วยในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (4) ให้ประเทศสมาชิกทั่วโลกนำไปเป็นแนวทางการปฏิบัติและนำไปใช้ ซึ่งทำให้มีนวัตกรรมต่าง ๆ ถูกคิดค้นขึ้นใหม่อย่างต่อเนื่องเพื่อลดพฤติกรรมเนือยนิ่งในทุกกลุ่มวัย มีนวัตกรรมที่น่าสนใจและอยากแบ่งปันกับผู้อ่าน ดังต่อไปนี้

นวัตกรรมที่ถูกสรรสร้างมาเพื่อเพิ่มการมีกิจกรรมทางกายสำหรับเด็ก

ผลการวิจัยจากหลายสำนักชี้ชัดและยืนยันว่า การมีกิจกรรมทางกายส่งผลในเชิงบวกสำหรับพัฒนาการของเด็ก ด้วยเหตุนี้ประเทศไทยได้มีการสร้างนวัตกรรมในลักษณะของหลักสูตรเพื่อส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายในกลุ่มเด็ก ซึ่งได้นำร่องพัฒนานวัตกรรมภายใต้ชื่อ “โรงเรียนฉลาดเล่น” เพื่อให้เด็กไทยมีโอกาสได้วิ่งเล่นทุกวัน วันละ 60 นาที ลดพฤติกรรมเนือยนิ่งโดยการไม่ให้เด็กนั่งนิ่งต่อเนื่อง 60 นาที และลดพฤติกรรมติดหน้าจอไม่เกิน 2 ชม. ต่อวัน ซึ่งจากนวัตกรรมดังกล่าวให้ผลลัพธ์ในการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกที่เกิดขึ้นจากการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ นวัตกรรมนี้ได้ถูกนำมาขยายผลในการดำเนินงานโรงเรียนส่งเสริมกิจกรรมทางกายในประเทศไทย (5) ซึ่งนวัตกรรมในลักษณะนี้ได้มีการพัฒนาและปรับใช้ไปตามบริบทในหลากหลายประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

Application บน Smart device เพื่อเพิ่มการมีกิจกรรมทางกาย

ในโลกยุคดิจิทัลแบบนี้ กิจกรรมหลาย ๆ อย่างของมนุษย์จึงเน้นไปที่ความรวดเร็ว และสะดวกสบาย เพราะทุกย่างก้าวของชีวิต ต้องแข่งขันกับเวลา ลักษณะพฤติกรรมประจำวันคือการนั่งทำงานในสำนักงาน (Office) ทั้งวันจนบางครั้งลืมที่จะขยับหรือเคลื่อนไหวติดต่อกันหลายชั่วโมงต่อวัน ดังนั้นเพื่อแทรกแซงพฤติกรรมเสี่ยงดังกล่าวให้ลดน้อยลงในแต่ละช่วงวัน เทคโนโลยีในยุคดิจิทัลจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ถูกนำมาใช้ในการส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกาย ซึ่งเป็นไปตามวิถีการดำเนินชีวิตในปัจจุบันที่ต้องสะดวกและรวดเร็ว อีกทั้งยังครอบคลุมและเข้าถึงผู้คนได้ในครั้งละจำนวนมาก Application ต่าง ๆ ได้ถูกออกแบบและพัฒนาจากทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อกระตุ้นและท้าทายให้ผู้คนมีกิจกรรมทางกายที่เพิ่มมากขึ้น

Step Counter Application เป็นนวัตกรรมที่ถูกสร้างมาเพื่อการนับก้าวเดินในแต่ละวัน ซึ่งสามารถติดตั้งเพื่อใช้งานได้ง่ายบน Smart Phone ได้ทุกรุ่นโดยที่ไม่ต้องซื้ออุปกรณ์เสริมใด ๆ สำหรับการใช้งาน นวัตกรรมนี้ถือเป็นหนึ่งช่องทางในการกระตุ้นการมีกิจกรรมทางกายในกลุ่มประชากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในระดับภาครัฐจากหลายประเทศได้นำไปเป็นเครื่องมือกระตุ้นการเดินของประชาชนโดยการสร้างกิจกรรมท้าทายให้คนเดิน โดยมีของรางวัลหรือข้อเสนอสิทธิพิเศษให้สำหรับผู้ที่มีก้าวเดินตรงตามเป้าที่ตั้งไว้ ยกตัวอย่างเช่น National Steps Challenge (6) ของประเทศสิงคโปร์ซึ่งได้จัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องมาแล้ว 5 ครั้ง โดยมีรางวัลหรือข้อเสนอสิทธิพิเศษเพื่อใช้เป็นแรงจูงใจในการเข้าร่วมกิจกรรมเพิ่มสูงขึ้น ๆ ในทุกปี รางวัลที่ใช้เพื่อเป็นแรงจูงใจมีหลายรางวัล ซึ่งรางวัลสูงสุดเป็นตั๋วเครื่องบินไป-กลับสำหรับการท่องเที่ยว มูลค่าสูงถึง SGD 23,000 หรือประมาณ 520,000 บาท โดยผลของการจัดกิจกรรมสามารถกระตุ้นให้ประชากรมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการพยายามเก็บสะสมก้าวเดินของผู้เข้าร่วมกิจกรรม

Virtual Reality (VR) เพื่อการมีกิจกรรมทางกาย

หลังจากที่ทั่วโลกต้องประสบกับสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ทำให้การเคลื่อนไหวหรือการออกกำลังกายมีข้อจำกัดมากยิ่งขึ้นเนื่องจากมาตรการต่าง ๆ ที่ถูกบังคับใช้เพื่อหยุดการระบาดของโรค ทำให้ Virtual Reality (VR) เข้ามามีบทบาทและถูกนำมาพัฒนาใช้เพื่อตอบโจทย์กับการออกกำลังกายในพื้นที่จำกัดมากยิ่งขึ้น รูปแบบการจำลองสถานการณ์รูปแบบใหม่ในการมีกิจกรรมทางกายได้ถูกออกแบบเป็นทางเลือก ให้มีกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกาย มีการจัดกิจกรรมการวิ่งมาราธอนในรูปแบบออนไลน์หรือเรียกได้อีกชื่อหนึ่งก็คือ Virtual Run ซึ่งสามารถสะสมระยะวิ่งเวลาไหนก็ได้ในวันที่กำหนด ในเส้นทางที่ผู้วิ่งสามารถเป็นคนกำหนดเอง และสามารถได้รับของรางวัลเหมือนกัน ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในงานมาราธอนจริง ๆ แม้จะวิ่งอยู่ในบ้านก็ตาม ซึ่งในช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 การออกไปวิ่ง ปั่นจักรยาน หรือการที่จะไปออกกำลังกายในสถานที่สาธารณะต่าง ๆ ถูกจำกัดด้วยมาตรการป้องกันโดยการเว้นระยะห่างทางสังคมทำให้เกิดกระแสการออกกำลังกายในโลกเสมือน มีทิศทางและแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้น ในประเทศไทยในช่วงปีที่ผ่านมามีการจัดกิจการออกกำลังกายในลักษณะ Virtual Reality (VR) ทั้งเป็นกิจกรรมงานวิ่งในแบบ Virtual Running และการปั่นจักรยานในแบบ Virtual Cycling ให้เลือกสมัครเข้าร่วมหลายรายการ แต่เนื่องด้วย Virtual Reality (VR) มีข้อจำกัดหลายอย่างในการหาอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ ที่มีต้นทุนที่สูงและยังมีมาให้เลือกใช้ไม่หลากหลายมากนัก อย่างเช่น อุปกรณ์ติดรองเท้าหรือดุมล้อจักรยานเพื่อเชื่อมต่อกับระบบ Virtual Reality (VR) ที่มีราคาเริ่มต้นที่ประมาณ 1,500 – 3,000 บาท (7) เลยทีเดียว เนื่องจากเป็นระบบที่ถูกออกแบบและพัฒนาในเชิงพาณิชย์ หากภาครัฐเป็นผู้พัฒนาและส่งเสริมให้เกิดการใช้และมีอุปกรณ์ โดยภาครัฐเป็นผู้ออกแบบระบบเอง มีราคาย่อมเยาว์ จะสามารถช่วยผลักดันให้ประชาชนเข้าถึงการออกกำลังกายที่บ้านแบบ Virtual Reality (VR) ได้ทั่วทุกกลุ่ม อีกทั้งยังสามารถทำให้มีผู้เข้าร่วมแข่งขันหรือเข้าร่วมกิจกรรมการออกกำลังกายเพิ่มมากขึ้นได้ไม่น้อย

ระบบการจัดการข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล Big Data

กระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics) เป็นการค้นหารูปแบบความสัมพันธ์ของข้อมูลต่าง ๆ ในข้อมูลฐานระบบเพื่อหาสิ่งเชื่อมโยงของข้อมูลเหล่านั้นเข้าไว้ด้วยกัน เป็นประโยชน์ในการหารูปแบบของพฤติกรรมต่าง ๆ ในระดับบุคคลได้อย่างแม่นยำ ซึ่งจะเห็นได้ว่านวัตกรรมต่าง ๆ ที่ได้กล่าวถึงข้างต้นจำเป็นต้องจัดเก็บข้อมูลในลักษณะของฐานข้อมูลอย่างเป็นระบบอยู่แล้ว คงจะดีไม่น้อยที่ข้อมูลเหล่านั้นจะถูกดึงมาใช้ในการวิเคราะห์ในลักษณะ Big Data Analytics เพื่อหาช่องว่างและโอกาสในการเสนอทางเลือกทางสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพและตรงตามเป้าหมายของพฤติกรรมการใช้ชีวิตในแต่ละบุคคล การมีฐานข้อมูลจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในโลกยุคดิจิทัล ซึ่งการได้ครอบครองข้อมูลถือเป็นอาวุธสำคัญในการใช้สำหรับการวิเคราะห์เพื่อวางแผนและปรับกลยุทธ์ในการส่งเสริมให้ประชากรมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอในวิถีชีวิตประจำวันให้เป็นนิสัย เพื่อลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง (Sedentary Behavior) อันหมายถึง กิจกรรมที่ใช้พลังงานต่ำ เช่น การนั่งเล่นโทรศัพท์มือถือ การใช้คอมพิวเตอร์ ที่ประชากรทุกคนในโลกควรตระหนักรู้และย้ำเตือนจากระบบฐานข้อมูลส่วนตัวที่ผ่านการวิเคราะห์เพื่อเสริมสร้างการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอในแต่ละวัน

เห็นได้ชัดว่าเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่มีบทบาทชัดเจนที่มุ่งตรงต่อพฤติกรรมของมนุษย์ที่มีความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในยุคโลกดิจิทัล ทำให้ข้อมูลข่าวสารถูกเผยแพร่ แลกเปลี่ยนและถูกสืบค้นได้อย่างรวดเร็วเพียงปลายนิ้วสัมผัส ด้วยเหตุนี้มันก็เป็นเรื่องที่คงไม่ยากเช่นกันที่จะส่งมอบนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมสุขภาพต่าง ๆ อีกทั้งยังผลักดันและขับเคลื่อนให้มนุษย์มีกิจกรรมทางกายที่เพิ่มมากขึ้น ในรูปแบบต่าง ๆ ที่ตอบสนองต่อพฤติกรรมการมีกิจกรรมทางกายของมนุษย์ได้อย่างเหมาะสมในระดับความต้องการใช้งานในแต่ละบุคคล ในขณะที่หลายครั้งที่เราเพียงแค่กล่าวถึงหรือต้องการเลือกซื้อสินค้าบางอย่าง ระบบสืบค้นข้อมูลจะพยายามเสนอสินค้าในกลุ่มเหล่านั้นมาให้เราพบเห็นแทบจะทุกครั้งในการหยิบ smartphone ขึ้นมาใช้งาน คงจะดีไม่น้อยที่เราจะสามารถพัฒนานวัตกรรมที่เป็นระบบเฝ้าระวังการมีกิจกรรมทางกายในแต่ละบุคคลและสามารถหยิบยื่นนวัตกรรมหรือข้อเสนอเชิงสุขภาพเพื่อเตือนหรือส่งเสริมให้มีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอก่อนที่จะเจ็บป่วยหรือเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ต่างๆ ได้

CR. ดนุสรณ์ โพธารินทร์

สืบค้นงานวิจัยทางการศึกษา ThaiEdResearch

การสืบค้นฐานข้อมูลทรัพยากรห้องสมุด Web OPAC

การสืบค้น Free Database ฐานข้อมูล Google Scholar