Copyright 2025 - Custom text here

การพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อลดเวลาในการปฏิบัติงานขั้นตอนการจัดเตรียมโลหิตและส่วนประกอบของโลหิตสำหรับผู้ป่วย งานปฏิบัติการธนาคารเลือดโรงพยาบาลลำพูน

นายสุวรรณ ภิญโญจิตต์ บธ.บ.1 นส.สายฝน เขื่อนสุวรรณ ศศ.บ.2 นส.ภณิดา คำธิตา วท.บ.2

1งานศูนย์ข้อมูลสารสนเทศทางการแพทย์ โรงพยาบาลลำพูน 2งานปฏิบัติการธนาคารเลือด โรงพยาบาลลำพูน

บทคัดย่อ

ชื่อผู้นำเสนอผลงาน : นายสุวรรณ ภิญโญจิตต์

บทนำและวัตถุประสงค์ : งานปฏิบัติการธนาคารเลือดนับเป็นหน่วยงานสนับสนุนทางคลินิกที่สำคัญ เนื่องจากมีหน้าที่บริหารจัดการและจัดเตรียมโลหิตและส่วนประกอบของโลหิตสำหรับผู้ป่วย แต่เนื่องด้วยการปฏิบัติงานต้องสูญเสียเวลาไปกับการบันทึกข้อมูลโดยเจ้าหน้าที่ ลงในเอกสารควบคุมต่างๆ ตลอดจนการค้นหาข้อมูลเพื่อตรวจสอบยืนยันความถูกต้องที่ใช้ระยะเวลานานมากในการปฏิบัติงาน ส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับการบริการโลหิตและส่วนประกอบของโลหิตล่าช้า ส่งผลกระทบต่อการรักษาของผู้ป่วยดังนั้นผู้พัฒนาโปรแกรมและเจ้าหน้าที่งานธนาคารเลือดจึงทบทวนกระบวนการทำงานของงานปฏิบัติการธนาคารเลือด และมีแนวคิดที่นำเอาระบบสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงาน โดยวัตถุประสงค์เพื่อลดระยะเวลาในการปฏิบัติงานกระบวนการเตรียม จนถึงขั้นตอนจ่ายโลหิตแก่ผู้ป่วยให้ลงจากเดิม ร้อยละ 60 ต่อเลือด 1 ยูนิต

วิธีการศึกษา : ประชากรเป้าหมายในการศึกษาครั้งนี้เป็นผู้ปฏิบัติงานงานธนาคารเลือด ใช้วิธีการศึกษาวิจัยเพื่อการพัฒนา(Research and development) เริ่มจากการสังเกตแบบมีส่วนร่วมเพื่อค้นหาจุดเสี่ยงในการปฏิบัติงาน และรวบรวมข้อมูลเพื่อวางแนวทางในการพัฒนาระบบโปรแกรม โดยการวิเคราะห์ข้อมูลย้อนหลัง ตั้งแต่เดือนมกราคม 2555 ถึง ธันวาคม 2558 (4ปี) เพื่อเปรียบเทียบข้อมูลระยะเวลาในการปฏิบัติงานกระบวนการเตรียม จนถึงขั้นตอนจ่ายโลหิตแก่ผู้ป่วย ใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ จำนวน ร้อยละ ซึ่งนำไปใช้ประกอบการอธิบายเกี่ยวกับระยะเวลาที่ใช้ในการปฏิบัติงานก่อนและหลังการปรับปรุงพัฒนาระบบ และใช้แบบสอบถามในการประเมินผลความพึงพอใจต่อการใช้งานโปรแกรม

ผลการศึกษา :

เชิงปริมาณ การปฏิบัติงานก่อนปรับปรุงระบบใช้เวลาในการปฏิบัติงาน 690 วินาที ต่อเลือด 1 ยูนิต หลังการปรับปรุงพัฒนาระบบ ใช้เวลาในการปฏิบัติงาน 305 วินาที ต่อเลือด 1 ยูนิต ลดลงจากเดิม ร้อยละ 55.80 ต่อเลือด 1 ยูนิต

เชิงคุณภาพ ด้านผู้ปฏิบัติงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในการบันทึกข้อมูลลงในเอกสารควบคุมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการให้โลหิตของผู้ป่วย มีความรวดเร็ว ถูกต้อง ครบถ้วนมากขึ้น ด้านผู้รับบริการ ผู้ป่วยได้รับการบริการโลหิตและส่วนประกอบของโลหิต ในเวลาที่รวดเร็วขึ้น

สรุป : การนำเอาระบบสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานสามารถลดลดระยะเวลาในการปฏิบัติงานได้ อีกทั้งเกิดความถูกต้องและปลอดภัยต่อการจัดเตรียมโลหิตและส่วนประกอบของโลหิตต่อผู้ป่วย

ข้อเสนอแนะ : ข้อมูลสารสนเทศที่ถูกจัดเก็บไว้ในฐานข้อมูลนั้น สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการทำงานในด้านอื่นได้อีกอาทิ นำไปวิเคราะห์ข้อมูลเชิงสถิติ การค้นหาข้อมูล ซึ่งเป็นการบรูณาการในการใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่มีอยู่ร่วมกัน ภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

 

 

 

 

 

สืบค้นงานวิจัยทางการศึกษา ThaiEdResearch

การสืบค้นฐานข้อมูลทรัพยากรห้องสมุด Web OPAC

การสืบค้น Free Database ฐานข้อมูล Google Scholar